ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะฯ ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ปลาหมอคางดำ
- วันที่ 22 ก.ค. 2567 เวลา 13.00 – 16.10 น. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะฯ ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ชาวประมง และ ผู้แทนสมาคมการประมง 16 จังหวัด โดยมีนาย ชัยวัฒน์ ตุนทกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวให้การต้อนรับ ผู้ร่วมงานจำนวนประมาณ 120 คน
สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาชิก และ ชาวประมง ยื่นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระบาดเฉพาะหน้า จำเป็น เร่งด่วนดังนี้
1. ให้รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานฯ ปลัดกระทรวง/อธิบดีฯ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ อธิบดีกรมประมง เป็นเลขาฯ รองอธิบดีกรมประมง เป็นรองเลขาฯ ผอ.ฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้ช่วยเลขาฯ โดยมีผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ
2. พิจารณาออกประกาศให้มีการผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ ได้ใน แหล่งน้ำสาธารณะตามความจำเป็น เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ชายฝั่งทะเลในทุกจังหวัดที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยการออกประกาศดังกล่าวให้เป็นตามมติของคณะทำงานเฉพาะกิจแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาเสนอฯ
3. กำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนที่แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ชายฝั่งทะเล รวมถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประชาชนที่มีปลาหมอคางดำระบาดอยู่เพื่อใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบ
4. ให้ประมงจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมกับสมาคมประมงในพื้นที่ ประสานชาวประมง รับลงทะเบียนเรือประมง ชาวประมง ที่จะมาเข้าร่วมโครงการกำจัดปลาหมอคางดำเพื่อควบคุมให้อยู่ในระบบข้อมูลทางการ
5. รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำ ให้กับชาวประมง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องมือ ค่าอุปกรณ์ ค่าแรงงาน สนับสนุนราคาปลาหมอคางดำในราคา 15 บาท ภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ชัดเจน (3-6 เดือน) เพื่อเร่งรัดการกำจัด และป้องกันการลักลอบเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เป็นต้น
6. กำหนดให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด โดยให้มีประมงจังหวัดเป็นประธานฯ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนสมาคมประมงจังหวัด ผู้แทนชาวประมง ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมเป็นกรรมการ เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดเป็นเลขาฯ ให้หน้าที่ในการดำเนินการ กำกับ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการใช้งบประมาณให้กับเรือประมง ชาวประมง ที่เข้าร่วมโครงการ และแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจตามความจำเป็น รวมทั้งรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่พบระหว่างการดำเนินการ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และอาจจะเสนอปัญหาต่างๆ ให้กับกรมประมง เพื่อช่วยพิจารณาแก้ไข
7. ให้คณะทำงานเฉพาะกิจจังหวัดต่างๆ ประสานความร่วมมือกับเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ช่วยแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงต่อคณะทำงานฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลและร่วมมือในการกำจัดปลาหมอคางดำ จากแหล่งเพาะเลี้ยงของเกษตรกร
8. ภายใต้คณะทำงานดังกล่าว ให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจรับแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยให้มีการตั้งกลุ่มไลน์และช่องทางสื่อสารอื่นๆ ในการรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ในจังหวัดนั้นๆ ว่ามีพื้นที่ใดที่มีปลาหมอคางดำระบาดโดยประสานคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการกำจัดโดยเร่งด่วน
9. พื้นที่ไหนที่ได้มีการกำจัดปลาหมอคางดำจนเหลือน้อยแล้ว ให้เริ่มปล่อยปลานักล่าตัวใหญ่จำนวนมากพอ ลงไปใน แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เพื่อให้ปลานักล่ากินลูกปลาหมอคางดำเพื่อตัดวงจรชีวิตปลาหมอคางดำให้หมดไปโดยเร็ว หลังจากนั้น ให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยา เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นทดแทน เป็นต้น
เวลา 14.50 น. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะฯ เดินทางตรวจสอบจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ
ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ และจะนำข้อเสนอแนะ ไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 เวลา 10.25 น. ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ตัวแทนผู้ประกอบการประมงจังหวัดสมุทรสาคร ในนามสมาชิกสมาคมการประมงสมุทรสาคร นำโดย นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยตัวแทนสมาชิกฯ จำนวนประมาณ 50 คน เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือตอ่นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กรณีขอให้รัฐบาลเร่งรัดซื้อเรือคืนตามโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน หรือ โครงการซื้อเรือคืน จำนวน 1,007 ลำ โดยที่ผ่านมามีความล่าช้าทำให้ผู้ประกอบการประมงที่นำเรือออกนอกระบบได้รับความเดือดร้อน
- เวลา 13.35 น. นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมฯ ยื่นหนังสือต่อนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โดยนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รับจะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเร่งรัดดำเนินการให้ พร้อมกันนี้ได้พูดคุยสอบถามปัญหาความเดือดร้อนอื่นๆ และ การจัดกิจกรรม “สืบชะตาทะเลอ่าวไทยตอนบน”ครั้งที่ 13 และ การทำบุญอาคารสมาคมการประมงสมุทรสาคร แห่งใหม่ วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ซึ่งนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เดินทางไปเป็นประธานในงานดังกล่าว
- เวลา 14.45 น. เสร็จการยื่นหนังสือกลุ่มฯแยกย้ายเดินทางกลับ